เสียงสะท้อนภาคประชาชน หลังสธ.ห้ามจ่าย PrEP – PEP
เสียงสะท้อนภาคประชาชน หลังสธ.ห้ามจ่าย PrEP – PEP ลดการติดเชื้อเอชไอวี ทำเกิดสุญญากาศการเข้าถึงยา
ไทยประกาศต่อนานาชาติว่าจะยุติเอดส์ให้ได้ภายในปี 2573 แต่ก็เกิดปัญหาความไม่ชัดเจนของนโยบายการยุติปัญหาเอดส์ของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ส่งผลให้เกิดสุญญากาศในการรับบริการ เมื่อกระทรวงสาธารณสุขออกประกาศห้ามภาคประชาชนแจกยา PrEP และยา PEP ทำให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงเกิดความสับสนในการเข้าถึงสิทธิในระบบบริการสุขภาพ ผู้ถือบัตรทองสามารถรับบริการในโรงพยาบาลตามสิทธิ แต่ไม่ครอบคลุมผู้มีสิทธิประกันสังคม ข้าราชการ และรัฐวิสาหกิจ
“ผมใช้สิทธิประกันสังคม ผมรับ PrEP ไม่ได้ ผมตรวจ HIV ไม่ได้ ต้องเสียเงิน แต่ถ้าผมติดแล้วเข้าสู่การรักษาพยาบาลได้ หมายความว่า ต้องติดก่อนถึงจะได้รับบริการใช่หรือไม่”
นี่คือเสียงสะท้อนของผู้ใช้บริการยาเพร็ป (Pre-Exposure Prophylaxis หรือ PrEP) จากคลินิกชุมชน (SWING) ที่ต้องการให้นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ตอบคำถาม หลังมีประกาศกรมสนับสนุนการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เรื่อง แนวทางการจัดบริการยา PrEP และประกาศของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ ให้การป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ครอบคลุมเฉพาะผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ส่งผลให้ภาคประชาชนต้องหยุดจ่ายยาเพร็พ (PrEP : ยาป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อเอชไอวี) และยาเป๊ป (PEP : ยาป้องกันหลังสัมผัสเชื้อเอชไอวี)
ชโยดม สมบัติ คือหนึ่งในผู้ใช้บริการคลินิกชุมชน เล่าว่า เขารับยา PrEP ที่คลินิกชุมชนมานานกว่า 10 ปี เขาเป็นพนักงานบริษัทที่ใช้สิทธิประกันสังคม หากไม่สามารถไปใช้บริการที่ SWING ได้ ก็ต้องไปดูว่าประกันสังคมสามารถตรวจเอชไอวีและรับยา PrEP ได้ไหม ซึ่งในความเป็นจริงแล้วประกันสังคมมุ่งเน้นเรื่องการรักษาพยาบาล ไม่ได้มุ่งเน้นเรื่องการป้องกัน จึงกลายเป็นว่าถ้ามีสิทธิประกันสังคม ต้องการอยากตรวจเอชไอวี หรืออยากรับ PrEP จะต้องจ่ายเงินเอง นี่คือปัญหาที่เกิดขึ้น